บทที่ 3 การผลิตแผ่นป้ายโฆษณา

แผ่นป้ายโฆษณาหรือโปสเตอร์ (Poster) เป็นสื่อที่มีความสำคัญมากในวงการประชาสัมพันธ์ เพราะแผ่นป้ายโฆษณาสามารถเผยแพร่ได้สะดวกและกว้างขวาง  เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทุกพื้นที่  สามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้ทุกเพศทุกวัยทุกระดับการศึกษา  มีความยืดหยุ่นในการออกแบบ สามารถออกแบบกราฟิกได้อย่างอิสระ  เพื่อโน้มน้าวความรู้สึกได้เป็นอย่างดี
ความหมายของแผ่นป้ายโฆษณา
            แผ่นป้ายโฆษณาหรือโปสเตอร์  (Poster)  หมายถึงแผ่นป้ายที่สามารถนำเสนอข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ได้มาก ผลิตง่าย ใช้สะดวก จึงเป็นที่นิยมตลอดมา การออกแบบแผ่นป้ายโฆษณาจะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 4 อย่าง ดังนี้
            1 .แผ่นป้ายโฆษณาต้องเป็นแผ่นเดียว สามารถติดลงบนพื้นผิวประเภทใดก็ได้
            2. ต้องมีข้อความประกอบเสมอ
            3. ใช้สำหรับปิดไว้ในที่สาธารณะ
            4. สามารถผลิตขึ้นเป็นจำนวนมากได้
ลักษณะที่ดีของแผ่นป้ายโฆษณา
            การออกแบบแผ่นป้ายโฆษณาได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีการสร้างสรรค์ให้มีลักษณะโดดเด่น เร้าใจมากยิ่งขึ้นโดยไม่มีขอบเขต ดังนั้นการวางแผนการผลิตจึงเป็นไปอย่างคล่องตัว มีแนวคิดใหม่ ๆ เกี่ยวกับการผลิตเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น  มีการเน้นความแปลกตา สวยงาม ซึ่งลักษณะที่ดีของแผ่นป้ายโฆษณาควรสนองแนวคิด 5 ประการ ดังนี้
            1. ตอบสนองจุดประสงค์ในการสื่อความหมายได้อย่างสมบูรณ์
            2. มีความชัดเจนในภาพลักษณ์ และข้อความที่ใช้ในการสื่อความหมายต้องมีความชัดเจน มีขนาดที่เหมาะสม
            3. รูปภาพและข้อความที่นำเสนอต้องสอดคล้อง สัมพันธ์กัน และส่งเสริมซึ่งกันและกัน
            4. สามารถเข้าใจได้ง่าย ดึงดูดความสนใจกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด
            5. มีความกะทัดรัด แสดงแนวคิดหลักเพียงอย่างเดียว
ข้อดี-ข้อเสียของแผ่นป้ายโฆษณา
            ข้อดีของแผ่นป้ายโฆษณา
            1. ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง และสามารถเลือกติดตั้งเฉพาะพื้นที่ได้
            2. มีความถี่ในการมองเห็นบ่อย เพราะจุดติดตั้งส่วนใหญ่เป็นเส้นทาง หรือบริเวณที่ต้องเดินผ่านไปมาเสมอ
            3. สามารถดึงดูดความสนใจได้ดี
            4. ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเวลาในการนำเสนอข้อมูล
            5. ข้อความที่กะทัดรัด ทำให้เกิดความสนใจและเป็นจุดเด่นที่ทำให้เกิดการจดจำ
            ข้อเสียของแผ่นป้ายโฆษณา
            1. การนำเสนอข้อมูลมีข้อจำกัดสูง ทำให้ขาดรายละเอียดเมื่อเปรียบเทียบกับสื่อชนิดอื่น ๆ
            2. การติดตั้งในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ทำให้ได้รับความสนใจน้อย
            3. การผลิตจำเป็นต้องใช้ความละเอียดอ่อนสูง เสียค่าใช้จ่ายมาก
            4. เป็นการไม่รักษาสิ่งแวดล้อมที่ดี
การออกแบบโครงร่างแผ่นป้ายโฆษณา
            ในการจัดทำแผ่นป้ายโฆษณานั้น ควรทำการออกแบบโครงร่างไว้ก่อน ซึ่งสิ่งที่ใช้ในการออกแบบฌโครงร่าง คือ ข้อมูลต่าง ๆ ดังนี้
            1. ข้อมูลบริษัท หรือหน่วยงาน ได้แก่
                 โลโก้
                 ชื่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
                 ที่อยู่
                 หมายเลขโทรศัพท์
                 หมายเลขโทรสาร
                 E-Mail Address
            2. ข้อความโฆษณาเชิญชวนให้ทราบ
                           ตัวอย่างการออกแบบโครงร่าง

รูปแสดงตัวอย่างการออกแบบโครงร่างของแผ่นป้ายโฆษณา
 
หลักการออกแบบแผ่นป้ายโฆษณา
            การกำหนดขนาดของแผ่นป้ายโฆษณา
            ขนาดของแผ่นป้ายโฆษณามีหลายขนาด เช่น ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการโฆษณา โดยทั่วไปขนาดของแผ่นป้ายโฆษณาที่นิยมใช้งานมี 2 ขนาด ดังนี้
            1. ขนาด 31 x 43 นิ้ว หรือ 24 x 35 นิ้ว
            2. ขนาด 10 x 21 นิ้ว หรือ 24 x 11.5 นิ้ว
การกำหนดรูปภาพประกอบของแผ่นป้ายโฆษณา
            รูปภาพประกอบในแผ่นป้ายโฆษณา ได้แก่ รูปภาพจากการถ่ายภาพ รูปภาพจากการวาดเขียนระบายสี ซึ่งแนวคิดในการออกแบบรูปภาพ คือ การกำหนดขนาดของรูปภาพ กำหนดเรื่องราวของรูปภาพ กำหนดรูปแบบของรูปภาพ เทคนิคในการสร้างสรรค์รูปภาพ โครงสีในรูปภาพ ความสวยงาม ความคมชัด การวางตำแหน่งรูปภาพที่เหมาะสมเป็นการสร้างจุดสนใจได้ดี วิธีที่ง่ายที่สุดคือการวางรูปภาพไว้ตรงกลาง ซึ่งเป็นบริเวณจุดศูนย์กลางความสนใจในการมอง (Optical Center)
             Herman F. Brandt ได้ทำการศึกษาถึงจุดสนใจของตำแหน่งที่เด่นที่สุดในภาพ จากการมองในกรอบสี่เหลี่ยมของขนาดกระดาษ ได้ผลสรุปจุดสนใจในการมองของคนเรา ดังนี้

แสดงจุดสนใจของตำแหน่งที่เด่นที่สุดในภาพ

 การจัดทำแผ่นป้ายโฆษณาด้วยโปรแกรม Microsoft Word 2007
            1. เข้าสู่โปรแกรม Microsoft Office Word 2007 โดยคลิกเมาส์ที่ปุ่ม Start - - > Program - - > Microsoft Office - - > Microsoft Office Word 2007

แสดงการเข้าสู่โปรแกรม Microsoft Office Word 2007
            2. การกำหนดหน้ากระดาษตามขนาดของแผ่นป้ายโฆษณาที่ต้องการ โดยเลือก แฟ้ม - - > ตั้งค่าหน้ากระดาษ
แสดงการกำหนดหน้ากระดาษตามขนาดของแผ่นป้ายโฆษณา

            3. เลือกขนาดกระดาษตามต้องการ
            4. ใส่เนื้อหาลงในแผ่นป้ายโฆษณา เช่น ข้อความ รูปภาพ เป็นต้น จัดรูปแบบให้สวยงามตามโครงร่างที่กำหนดไว้
การกำหนดตัวอักษรในแผ่นป้ายโฆษณา
            ตัวอักษรหรือข้อความในแผ่นป้ายโฆษณา เป็นการบรรยายข้อมูลสาระให้รับรู้ ดังนั้นการกำหนดตัวอักษรจึงควรเน้นในเรื่องของขนาดของตัวอักษร รูปแบบของตัวอักษร และสีของตัวอักษร
ขนาดของตัวอักษร
            ตัวอักษรที่ปรากฏในแผ่นป้ายโฆษณาโดยทั่วไป แบ่งออกเป็น 3 ขนาด คือ
            ขนาดใหญ่ ใช้สำหรับข้อความพาดหัว (Heading)
            ขนาดกลาง ใช้สำหรับข้อความรองพาดหัว (Sub Heading)
            ขนาดเล็ก ใช้สำหรับข้อความรายละเอียดที่เสนอเนื้อหาสาระ (Detail)

แสดงตัวอักษรขนาดต่าง ๆ



รูปแบบของตัวอักษร
            การสร้างสรรค์รูปแบบตัวอักษรให้สวยงาม แปลกตา และสอดคล้องกับลักษณะข้อความ มีความชัดเจน ทำให้เกิดความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เทคนิคการออกแบบตัวอักษรให้สวยงามเป็นส่วนทำให้เกิดแรงบันดาลใจให้อยากรู้ อยากเห็นมากกว่ารูปแบบตัวอักษรธรรมดา ซึ่งการสร้างรูปแบบตัวอักษรทำได้ 2 วิธี คือ
            1. การจินตนาการรูปแบบใหม่ สำหรับงานนั้น ๆ โดยเฉพาะ
            2. การเลือกใช้ตัวอักษรสำเร็จที่ออกแบบไว้เป็นมาตรฐานทั่วไป


แสดงตัวอักษรรูปแบบต่าง ๆ
สีของตัวอักษร
            การกำหนดสีของตัวอักษร เพื่อเน้นข้อความให้ชัดขึ้น สวยงามขึ้น การกำหนดสีทำได้ 3 ประการ คือ
            ค่าน้ำหนักของสี (Tone of Color)
            สีของตัวอักษรควรมีค่าน้ำหนักที่ตัดกันกับสีพื้นและควรเป็นสีที่แย้งกันกับสีพื้นให้มากที่สุด การตัดกันมากทำให้มีความเด่นชัดของตัวอักษรมาก สีที่ใกล้เคียงกันทำให้ความชัดเจนลดลงและอ่านยากขึ้น วิธีการง่าย ๆ คือใช้วงล้อสีธรรมชาติ โดยใช้สีที่อยู่ตรงกันข้ามกันของวงล้อสี ก็จะช่วยให้ตัวอักษรเด่นชัดขึ้น
            สีของตัวอักษรต้องไม่ใช้หลายสีจนเกินไป
            ภายใน 1 แผ่นโฆษณา ข้อความเดียวกันควรใช้สีเดียวกัน และไม่ควรใช้สีตัดกันระหว่างสีพื้นกับสีตัวอักษรเพราะทำให้ลายตา
            ควรใช้สีให้เหมาะสมกับคำหรือข้อความนั้น ๆ
            ข้อความที่เน้นความเร่าร้อน ตื่นเต้น อาจใช้สีแดง สีส้ม ส่วนข้อความที่แสดงถึงความสงบนิ่ง ความเย็น อาจใช้สีเหลือง สีเขียว สีฟ้า หรือน้ำเงิน